ไทยเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เราจะรับมือกันอย่างไร
การที่ไทยเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น แน่นอนว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง ถึงแม้ว่า ในมุมมองของผม จะเห็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย เห็นประโยชน์มากกว่าโทษ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า จะมีเหตุการณ์หนึ่ง ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และจะมีทั้งคนที่ได้รับประโยชน์จากข้อดีของมัน และก็มีคนที่โดนผลกระทบจากข้อเสียของมันด้วย นั่นก็คือ การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี นั่นเองครับ
“การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี” จะเกิดขึ้นในปี 2015 ซึ่งหมายถึง เราจะได้เห็นการโยกย้ายงานข้ามประเทศกันเป็นว่าเล่น คนไทยเราสามารถไปทำงานในประเทศใกล้เคียงได้อย่างเสรี และคนจากประเทศใกล้เคียง ก็สามารถมาทำงานในประเทศไทยเราอย่างเสรีได้เช่นกันครับ ขึ้นอยู่กับว่า ใครมีฝีมือมากกว่า และค่าแรงต่ำกว่า ก็ได้งานไป
แม้ว่าหลายๆคนจะบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องโดนแย่งงาน เพราะมีอาชีพที่ถูกกำหนดให้เป็นอาชีพเสรีเพียงแค่ 7 อาชีพ คือ วิศวะ พยาบาล สถาปนิก นักสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และ นักบัญชี แต่นี่คือการกำหนดในช่วงเริ่มแรกนะครับ ยังมีอีกหลายอาชีพที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้เป็นอาชีพเสรี ดังนั้น การเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ จึงน่าจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยกว่า แต่น่าเสียดายที่ผมยังไม่เห็นการตื่นตัวในเรื่องนี้มากมายนัก โดยเฉพาะกับน้องๆนักศึกษา ที่กำลังเตรียมจะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอีกไม่ช้านี้
ผมได้คุยกับลูกศิษย์หลายคนที่ยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย พวกเค้าบอกผมว่า เพื่อนๆส่วนใหญ่ ยังคงใช้ชีวิตชิลชิลกันตามปกติ คือ ดูเหมือนว่า ยังไม่มีใครตื่นตัวในเรื่องอาเซียนกันสักเท่าไหร่ ทั้งๆที่ในวันที่พวกเค้าเรียนจบ มันคือวันที่ประเทศไทยจะเริ่มต้นเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงนี้พอดี จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ผมคิดว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงครูบาอาจารย์ ควรเริ่มต้นกระตุ้นเด็กอย่างจริงจังในเรื่องของการเตรียมตัวรับมือกับอนาคตที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นอนาคตที่แตกต่างจากเส้นทางของคนรุ่นพ่อแม่อย่างสิ้นเชิง
ในมุมมองของผม ผมมองว่า เราต้องเริ่มต้นแก้ไข ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติของนักเรียนนักศึกษา ให้มาเน้นที่การพัฒนาศักยภาพตัวเอง เพื่อให้กลายเป็นแรงงานระดับฝีมือให้ได้ครับ ซึ่งคำว่าฝีมือที่ผมพูดถึงนี้ ไม่ได้หมายถึงทักษะในทางอาชีพเพียงอย่างเดียว เพราะผมเชื่อมั่นว่า คนไทยเรามีฝีมือในทางอาชีพ ดีกว่าหลายๆประเทศในเอเชีย ทั้งในเรื่องของความประณีต และการเอาใจใส่ในเนื้องาน แต่ที่ผมพูดถึงฝีมือนั้น ผมหมายถึง ต้องมีทักษะด้านการสื่อสารและการใช้เครื่องมือสื่อสารที่ดีอีกด้วย ซึ่งก็คือ ทักษะด้านการใช้ภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์นั่นเองครับ
เพราะทั้งสองทักษะนี้ ทำให้เราสามารถกุมตำแหน่งในระดับหัวหน้างานเอาไว้ได้ เพราะงานในระดับบนขึ้นไปนั้น จะเน้นที่การวางแผนและการสื่อสารเป็นหลัก หากต้องการไต่เต้าในสายงานอุตสาหกรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทักษะด้านภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ในระดับคล่องแคล่วครับ เพราะหากเราด้อยใน 2 ทักษะนี้ เราจะถูกบีบให้ต้องไปทำงานสายการผลิตแต่เพียงอย่างเดียว แต่งานในระดับหัวหน้างานนั้น อาจถูกคนชาติอื่นที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ที่ดีกว่า มาแย่งเราไป
ดังนั้น อย่ามัวกลัวว่า อนาคตเราจะถูกแย่งงานครับ เพราะมันขึ้นอยู่กับตัวของเราเอง มีเวลาตั้ง 3 ปี ที่จะเตรียมตัวให้พร้อมครับ ขอเพียงเริ่มต้นอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ เน้นว่า จริงจัง นะครับ เพราะคนไทยเรามีนิสัยที่น่าตีก้นอยู่อย่างหนึ่ง คือ ติดสบาย ชิลชิลกันเกินไปน่ะครับ ตอนนี้ไฟเริ่มลนก้นแล้วครับ อย่ารอจนไฟไหม้ก้นจนเกรียม แล้วค่อยลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองนะครับ อนาคตเป็นของตัวท่าน ท่านลิขิตมันได้เองครับ